พิธีกรรมกินผักภูเก็ต

พิธีกรรม ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต

พิธีชำระล้างสถานที่ (เจ่งตั๋ว)

พิธีชำระล้างบริเวณอ๊าม และโรงครัวให้สะอาด บริสุทธิ์ก่อนเริ่มประเพณีถือศีลกินผัก ประกอบพิธีกรรมโดย

พิธียกเสาโก้เต้ง

ก่อน 5 โมงเย็น ผู้มีหน้าที่จะให้เด็กตีฆ้องจีนเรียกว่า (โหล) ไปตามถนนร้องบอกประชาชนให้ไปช่วยขึ้นเสาเทวดา และกิ่วอ๋องต่ายเต่ เรียกว่า (คี้โก้เต้ง) เมื่อประชาชนได้ทราบข่าวก็จะมายังศาลเจ้าฯ เป็นจำนวนมาก ครั้นได้เวลาเจ้าหน้าที่เลอไท (ฮวดกั้ว) ทำพิธีเชิญประชาชนก็ช่วยกันดึงเชือกส่วนใหญ่ผู้ใช้ไม้ค้ำยันเสาก็ช่วยกันยันเสาขึ้นจนเป็นที่เรียบร้อยจึงนำตะเกียงทั้งเก้าดวงเตรียมไว้สำหรับจะดึงขึ้นสู่ยอดเสาก่อนพิธีเชิญพระกิ้วอ๋องต่ายเต่เข้าศาลเจ้า

ประชาชนที่มีรูปเทพเจ้าบูชาตามบ้านเรือนหรือตามห้างร้านค้าจะจุดธูป 3 เล่ม บอกกล่าวอัญเชิญเทพเจ้าเหล่านั้นไปร่วมพิธีกินผัก (เจี่ยะฉ่าย) ที่ศาลเจ้าซึ่งเป็นมณฑลพิธีเป็นจำนวนมาก

พิธีโก้ยเช่งเหี้ยว (เครื่องหอม) ศาลเจ้า

ช่วงระยะเวลาตอนค่ำ ทางเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการผู้รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องในงานพิธีกินผัก ได้จัดเตรียมสิ่งของทุกชนิดที่ใช้ในพิธีการและใช้สักการะบูชาทุกหน้าพระ เรียกว่า ตั๋ว ทุกๆแห่ง

ครั้นได้เวลา 23.00 น เจ้าหน้าที่เลอไท (ฮวดกั้ว) จะทำพิธีไหว้เทพเจ้าตามหน้าที่พระที่มีบรรดาพระหรือเทพที่ประทับอยู่ในศาลเจ้าให้รับทราบขั้นตอนถึงเวลาจะทำพิธีหม้อไฟไม้หอม โก้ยเซ่งเหี้ยว เรียกว่า เส้เจ่ง หรือ หม้อไฟเครื่องหอมจะรมภายห้องภายในโรงครัวศาลเจ้า ที่พักผู้ประทับทรง และตามบริเวณศาลเจ้าแล้วจึงไปวางไว้ที่โต๊ะพิธีเชิญเทวดามาเป็นประธานในพิธี และทำพิธีเชิญพระราชาธิราชทั้งเก้าพระองค์ (กิ้วอ๋องต่ายเต่) ซึ่งได่จัดเตรียมไว้ที่หน้าศาลเจ้า

พิธีเชิญยกอ๋องส่งเต่ (พระอิศวร)

ครั้นถึงเวลา 00.15 น. เที่ยงคืนของวันขึ้น 1 ค่ำ (ตามปฏิทินจีน) คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่เลอไท (ฮวดกั้ว) ทำพิธีไหว้เทพเจ้าตามพระที่ประทับอยู่ในศาลเจ้าให้รับทราบถึงขั้นตอน เมื่อถึงเวลาอัญเชิญเทวดายกอ๋องส่งเต่ (พระอิศวร) มาเป็นประธานใหญ่ในพิธีกรรมกินผัก มีประชาชนที่มาพร้อมในพิธีได้ร่วมอัญเชิญเทวดาที่หน้าศาลเจ้าเป็นจำนวนมาก เมื่อทำพิธีเชิญเทวดา โดยการเสี่ยงทาย (ปั๊วะโป้ย) เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วต่อจากนั้นจึงอัญเชิญ หม้อไฟไม้หอม กระถางธูปและชื่อเทวดาไปประดิษฐ์บนแท่นบูชา ซึ่งทางศาลเจ้าได้จัดเตรียมไว้เช่นทุกๆ ปีที่เคยปฏิบัติ

พิธีเชิญกิ้วอ๋องต่ายเต่ (พระราชาธิราชทั้งเก้าพระองค์)

หลังจากอัญเชิญเทวดามาเป็นประธานในพิธีเสร็จแล้ว ผู้มีหน้าที่มาช่วยในศาลเจ้าจะต้องเตรียมจุดตะเกียงทั้งเก้าดวงขึ้นไว้เพียงครึ่งเสา อีกไม่นานเจ้าหน้าที่ฮวดกั้ว (เลอไท) จะทำพิธีไหว้ตามหน้าพระอีกตามขั้นตอนจนถึงเวลาเชิญกิ้วอ๋องต่ายเต่ คือ พระราชาธิราชทั้งเก้าพระองค์ โดยการเสี่ยงทาย (ปั๊วะโป้ย) เมื่อทำพิธีเชิญเสร็จเป็นที่เรียบร้อย จึงอัญเชิญหม้อไฟไม้หอม กระถางธูปของกิ้วอ๋องต่ายเต่ (พระราชาธิราชเก้าพระองค์) พร้อมกับชิ้วหลอ คือ กระถางธูปมือถือ เข้าไปยังห้องประดิษฐานชั้นใน เรียกว่า (ไล่ตัว) เปรียบเสมือนพระราชวังที่ประทับชั้นในเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในศาลเจ้าทำพิธีสวดมนต์ (ส่งเก้ง) ดึงตะเกียงทั้งเก้าดวงขึ้นสู่ยอดเสา เป็นอันว่าพิธีการกินผักได้เริ่มขึ้น

เก้าโง๊ยโช่ยอื๊ด วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 จีน

ทางฝ่ายโรงครัวของศาลเจ้า ได้จัดหุงอาหารเตรียมไว้ให้กับประชาชนที่จะนำปิ่นโตมารับอาหารจากโรงครัวไปรับประทานที่บ้าน

ในสมัยก่อนผู้ที่หิ้วปิ่นโตนำอาหารมาจากโรงครัวของศาลเจ้าก่อนจะรับประทานอาหารจะต้องจุดธูปไหว้พระในบ้านและจุดไม้หอมพร้อมกันแล้วเอาปิ่นโตหรือหม้อข้าวรมควันไม้หอมเสียก่อน เรียกว่า (โก้ยเช่งเหี้ยว) ทุกครั้งจึงนำอาหารมารับประทานได้

เก้าโง๊ยโช่ยส้า วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 9 ของจีน

เมื่อทางศาลเจ้าได้ประกอบพิธีเจี่ยะฉ่าย (กินผัก) มาครบ 3 วัน ฮวดกั้ว (เลอไท) เวลา 15.00 น. ทำพิธีไหว้พระแล้วเชิญเทพผู้ใหญ่เข้าประทับทรงรวมถึงเทพอื่นๆ ที่มาร่วมในพิธีออกทำการลงหลักปักเขต รอบอาหารศาลเจ้า ตามทิศต่างๆ ด้วย เต๊กฮู้(ยันต์ไม้ไผ่) ผ่าซีกเขียนชื่อเทพผู้ใหญ่ ไปปักตามจุดที่สำคัญบริเวณศาลเจ้า คือ (ป้างกุ๋น) เป็นการปล่อยทหารออกรักษาการณ์ตามทิศต่างๆ ดังนี้

  1. ตั้งเอี๋ย ทิศตะวันออก ธงสีเขียว กิ้วอี่กุ้น (หลุยจินจู้) เป็นแม่ทัพมีทหาร 99,000 นาย
  2. หลำเอี๋ย ทิศใต้ ธงสีแดง ปัดบ่านกุ้น (เอี่ยวเจี้ยน) เป็นแม่ทัพมีทหาร 88,000 นาย
  3. ไช้เอี๋ย ทิศตะวันตก ธงสีขาว ล๊กย่ง (กุ้นอุ่ยฮ้อ) เป็นแม่ทัพมีทหาร 66,000 นาย
  4. ปั๊กเอี๋ย ทิศเหนือ ธงสีดำ ง้อเต๊กกุ้น (โทเฮ่งสุน) เป็นแม่ทัพมีทหาร 55,000 นาย
  5. จงเอี๋ย กองกลางธงสีเหลือง ซ่ำซิ่นกุ้น (โลเฉี้ย) เป็นแม่ทัพมีทหาร 33,000 นาย มีหน้าที่รักษาภายในบริเวณศาลเจ้า

นอกจากนี้ยังได้ไปปักหลักเขตตามทิศต่างๆ ของศาลเจ้าและบริเวณที่สำคัญได้แก่ ที่เสาโก่เต้ง จังผ้อแป๋(โรงครัว) กิ้มเต๋ง (เตาเผากระดาษทอง) เมื่อเสร็จพิธีลงหลักปักเขตเสร็จแล้วบรรดาเทพที่ประทับทรงมายังโต๊ะพิธีป้างโข้กุ้น (ปล่อยทหาร) เป็นอันเสร็จพิธีและจะทำพิธีโข้กุ้น (เลี้ยงทหาร) ไปจนตลอดงานเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00-16.00 น. ทุกวัน

พิธีเชิญล่ำเต้าปักเต้า (ผู้ถือบัญชีคนเกิดและคนตาย)

ในวันเดียวกันตอนค่ำเวลา 19.30 น. เจ้าหน้าที่ฮวดกั้ว (เลอไท) ทำพิธีเชิญเทพเข้าประทับทรงจัดขบวนแห่ไปอัญเชิญ ล่ำเต้า – ปั๊กเต้า (ผู้ถือบัญชีคนเกิดคนตาย) ซึ่งเคยปฏิบัติมาประดิษฐาน ณ ห้องประทับพระราชวังชั้นกลาง เพื่อมาร่วมรับทราบและร่วมพิธีกรรมในครั้งนี้ด้วย

พอตกดึก เถ้าเก้ล่อจู้ คำว่า ล่อจู้ คือ หัวหน้า รองล่อจู้ คือ ผู้ช่วย เก่าแก้ คือรองจากผู้ช่วย เจ้าหน้าที่พวกนี้จะมีหน้าที่ดูแล ปัดกวาด ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในศาลเจ้าและอำนวยความสะดวก แนะนำแก่ผู้ที่มาบูชาพระ พวกเขาเหล่านี้ เขาถือว่าเป็นผู้โชคดีที่สุดที่ได้มารับใช้พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องเข้าเวรยามรักษาการณ์ใน

ศาลเจ้า เขาจะนำรายชื่อผู้ที่มาก่าวเอี้ยนลุ้ย (คือ ผู้ที่มาร่วมทำบุญ) มาทำการปั๊วะโป้ย (เสี่ยงทาย) ต่อหน้ายกอ๋องส่งเต่ (พระอิศวร) คัดเลือกฉ้ายอิ้ว คือ (สมาชิก) เรื่อยไปจนถึงวันสุดท้ายเพื่อเตรียมเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้คัดเลือกรายชื่อเตรียมไว้ช่วยงานศาลเจ้าในปีต่อไปก็คือ เถ้าแก่ล้อจู้

พิธีโก้ยชิดแฉ้ (บูชาเทวดาดาวพระเคราะห์)

เวลา 14.00 น. ทางศาลเจ้าจะปลูกปะรำพิธีหน้าศาลเจ้ามีเทพเจ้าผู้ใหญ่จะทำพิธี เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. คณะกรรมการบริหารและผู้เกี่ยวข้องจะต้องร่วมพิธีเพื่อบูชาบวงสรวงเทพยดาต่างๆ และดาวพระเคราะห์ เรียกว่า (โก้ยชิดแฉ้ หรือ ป้ายชิดแฉ้) มีการส่งเก้ง (สวดมนต์) อ่านรายชื่อผู้เข้าร่วมกินผักทั้งชายและหญิงและจำนวนข้าวสารที่ใช้ไปในงานและอวยพรให้ประเพณีกินผักอยู่ยืนยาว และให้ฉ้ายอิ้ว (สมาชิก) อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วกันทุกคน จากนั้นผ้าป้อฮู้ เรียก (ผ้ายันต์) ส่วน ฮู้จั้ว คือ กระดาษ (ยันต์) บรรดาพระผู้ใหญ่ที่ประทับทรงอยู่บนปะรำพิธีจะโปรยผ้ายันต์หรือกระดาษยันต์ลงมาให้กับประชาชนที่รอคอยกันอยู่เบื้องล่างเป็นจำนวนมากและผู้คนได้แย่งกัน นับเป็นประเพณีที่แปลกไปอีกอย่างหนึ่ง
ในคืนนี้ ได้จัดเตรียมขบวนแห่สิ่งของต่างๆ เพื่อไปเชี้ยโห้ยที่สะพานหิน ซึ่งเป็นวันคล้ายกับเป็นการระลึกถึงครั้งแรกที่ทางศาลเจ้าต่างๆ ได้ไปเชิญพระกิ้วอ๋องต่ายเต่ (ราชาธิราชทั้งเก้าพระองค์) พร้อมคัมภีร์พิธีกรรมกินผักต่างๆ ที่มาจากประเทศจีน

พิธีเชี้ยเหี้ยวโห้ย คือ (เชิญธูปจุดไฟจากประเทศจีน)

รุ่งเช้ามือของวันแห่การจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้เชิญพระผู้ใหญ่เข้าประทับทรงได้เวลาอันสมควรจึงเคลื่อนขบวนแห่ไปยังสะพานหิน การจัดขบวนแห่ที่ใหญ่โตตามลำดับประกอบด้วยดังนี้

  1. ค่ายโหล (ฆ้องเบิกทาง)
  2. ตั๋วกี๋ (ธงใหญ่)
  3. เถ๋ากี๋ (ธงนำหน้า)
  4. ป้ายชื่อพระราชาธิราชทั้งเก้าพระองค์เสด็จ (กิ้วอ๋องต่ายเต่) เสด็จผ่านและป้ายให้เงียบและสงบ
  5. โฉ้ย (ปี่ยาว)
  6. เฉ่งตัวโหล (ฆ้องใหญ่)
  7. ไท่เผีย หรือ เก่ว (เกี้ยวเล็ก)
  8. เทพเจ้าต่างๆ ประทับทรง
  9. โฉ้ย (ปี่สวรรค์)
  10. เหี้ยวเต่า (เครื่องหม้อไฟหอม)
  11. เหนี่ยวซั่ว (ร่ม กระถางธูปมือถือ)
  12. ตั่วเลี้ยน (เกี้ยวใหญ่) ที่ประทับสำหรับกิ้วอ่องต่ายเต่ ประทับเมื่อขบวนแห่ไปถึงสะพานหิน เจ้าหน้าที่ฮวดกั้ว (เลอไท) และคณะกรรมการบริหารได้ร่วมทำพิธีเชิญเหี้ยวโห้ย ของ (พระราชาธิราชทั้งเก้าพระองค์) โดยการเสี่ยงทาย (ปั๊วะโป้ย) เมื่อทำพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงอันเชิญนำขบวนแห่กลับศาลเจ้าตามเดิม

พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ)

เป็นพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์อีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อมีการประกอบพิธีกินผัก จะต้องมีการลุยไฟทุกครั้ง เพื่อให้สิ่งเลวรายไปกับเปลวไฟ

พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์)

ผ่านการสะเดาะเคราะห์ประทับตรามีรูปต่างตัว (โต้ยซี้น) ต่างตัวกับต้นกู้ฉ่าย 1 ต้น กับเศษสตางค์ สำหรับผู้ชายจะเดินข้ามหม้อไฟไม้หอม เดินข้ามสะพานเทพเจ้าประทับตราให้ เมื่อผ่านไปแล้วจึงนำรูปต่างตัวกับต้นกู้ฉ่ายกับเศษสตางค์ลงในแข่งที่รองรับไว้ส่วนสำหรับผู้หญิง จะไม่มีหม้อไฟไม้หอม นอกนั้นปฏิบัติเหมือนกันทุกอย่า

การโก้ยหาน เป็นการสะเดาะห์อีกแบบหนึ่ง คือ สำหรับผู้ที่ไม่กล้าลุยไฟที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงหรือเด็กจะเข้ามาทำการโก้ยห่านได้เพื่อจะได้ให้สิ่งเลวร้ายต่างๆจะได้ไปพร้อมกับรูปต่างตัว ส่วนต้นกู้ฉ่ายนั้นมีความหมายว่าจะได้อายุยืนยาวต่อไปเหมือนกับต้นกู้ฉ่าย (ความหมาย คืน ต้นกู้ฉ่ายนี้เมื่อตัดต้นมากินแล้ว ส่วนหัวของต้นจะแตกยอดเป็นต้นขึ้นมาอีกจะไม่มีวันหมด ซึ่งเข้าใจกันว่าจะแตกกอและยืนยาวไม่มีสิ้นสุด)

พิธีส่งยกอ๋องส่งเต่ (ส่งพระอิศวร) ขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 จีน

ก่อนเที่ยงคืนหรือเที่ยงคืน ทางศาลเจ้าจะจัดโต๊ะทำพิธีส่งพระขึ้นสวรรค์ คือ ส่งเก้งส่างยกอ๋องส่งเต่ คือ เชิญพระอิศวรกลับขึ้นสรวงสวรรค์ ที่มาเป็นประธานใหญ่ในพิธีทั้ง 9 วัน 9 คืน เมื่อครบกำหนดจึงทำพิธีส่งที่หน้าศาลเจ้าจะมีผู้คนส่งเทวดาขึ้นสวรรค์เป็นจำนวนมาก พร้อมกับแจ้งรายงานจำนวนผู้ที่มาร่วมพิธีกินผักทั้งชายหญิงจำนวนเท่าไรใช้ข้าวสารไปจำนวนกี่กระสอบในปีนี้ให้พระอิศวรรับทราบและขอให้ศาลเจ้าอยู่เป็นหมื่นปีพร้อมกับประชาชนทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน (ฮั่บเก้งเป่งอ้าน)

พิธีส่างกิ้วอ๋องต่ายเต่ (พระราชาธิราชทั้ง 9 พระองค์)

ก่อนเที่ยงคืนหรือหลังเที่ยงคืน จะทำพิธีส่งเก้ง คือ สวดมนต์ รายงานเป็นครั้งสุดท้ายภายในห้องราชสำนักเพื่ออ่านรายชื่อคณะกรรมการ และผู้ที่มาช่วยเหลือพร้อมกับประชาชนทุกๆคน (ฉ้ายอิ้ว) ทั้งชายและหญิงที่มาร่วมในพิธีผักในปีนี้ทั้งหมดจำนวนเท่าไรและรวมถึงข้าวสารให้กิ้วอ๋องต่ายเต่ ได้รับทราบและขอให้ศาลเจ้า จงอยู่เป็นหมื่นปี (ฮับเก้งเป่งอ้าน) ขอให้ประชาชนทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน

หลังจากทำพิธีส่งเก้งเสร็จแล้ว คณะกรรมการผู้มีหน้าที่เชิญกระถางธูปต่างๆพร้อมทั้งของเล่งก้วนต่ายเต่ (ราชเลขา) ล่ำเต้า-ปั้กเต้า (ผู้ถือบัญชีคนตายและคนเกิด) ออกจากศาลเจ้าไปยัง ณ สถานที่ส่งตามที่ทางศาลเจ้าได้กำหนดไว้

พิธีลงเสาเทวดาและกิ้วอ๋องต่ายเต่ (เซียโก่เต้ง ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 9 จีน)

วันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 9 จีน ทุกศาลเจ้าเมื่อเสร็จจากพิธีกินผักจะต้องเขียนกระดาษแดง (เลี่ยนตุ่ย) ติดตามประตูต่างๆ ทุกแห่ง จัดเก็บเข้าของที่ได้นำมาใช้ในงาน ส่วนทางฝ่ายโรงครัวจัดทำอาหารคาวมีประเภทเนื้อสัวต์ต่างๆ เตรียมไว้ครั้นถึงเวลา 5 โมงเย็นประชาชนจะมาช่วยกันลงเสาเทวดากับกิ้วอ๋องต่ายเต่ เรียกว่า เซียโก่เต้ง หน้าศาลเจ้าลงแล้วหามเก็บเข้าที่ตามเดิม หลังจากนั้นก็เริ่มพิธีเลี้ยงอาหารเรียกว่า โข้กุ้น ตามทิศต่างๆที่ได้มารักษาการณ์ให้บริเวณงานทั้งภายในและภายนอกศาลเจ้าเชิญกลับเข้ากรมกองเรียกว่า ซิ่วกุ้น แต่ถ้าหากพิธีซิ่วกุ้น แต่ถ้าหากพิธีซิ่วกุ้นเชิญทหารกลับไม่หมดประชาชนเคราะห์หามยามร้ายจะเกิดมีการต่างๆ (ช้อง) เกิดขึ้นได้ เมื่อเสร็จประชาชนที่ได้เชิญรูปพระหรือเทพต่างๆ ที่นำไปร่วมในพิธีกินผักจะต้องเชิญกลับบ้านหลังจากโข้กุ้น ขุ่ยโฉ้ (กินอาหารคาว) เป็นอันว่าได้สิ้นสุดพิธีกินผักโดยสมบรูณ์ของปีนี้

แหล่งที่มา : ไชยยุทธ ปิ่นประดับ ประเพณีกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) จังหวัดภูเก็ต

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *